ประวัติความเป็นมาของตำบลสามผง
บุรพชนผู้ก่อตั้งชุมชนบ้านสามผง
ชุมชนบ้านสามผงตั้งขึ้นเมื่อกลางรัชกาลที่ 3 ก่อน พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำสงครามปราบพระเจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ แล้วยุบรวมความเป็นประเทศราชมาเป็น หัวเมืองขึ้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บุรพชนที่มาก่อตั้งชุมชนบ้านสามผง เป็นเชื้อสายที่มาจากเมืองเวียงจันทน์ ซึ่ง ติดตามผู้นำเพื่อหนีภัยทางการเมือง ระหว่างผู้ครองเมืองหนองบัวลำภู (เดิมชื่อ กาบแก้ว บัวบาน) คือ พระวรปัญญา กับผู้ปกครองเมืองเวียงจันทน์ คือ พระเจ้าพินธุสาร
ด้วยเหตุที่พระวรปัญญาไม่ยอมเป็นพวกกับเมืองเวียงจันทน์ ทำให้เมืองเวียงจันทน์ถือว่าพระวรปัญญา และทางหนองบัวลำภูคิดกบฏ พระวรปัญญาพร้อมด้วยเสนามาตย์ จึงอพยพหนีภัยไปที่เมืองจำปาสัก แต่เจ้าเมือง จําปาสักบอกกับพระวรปัญญาว่า ไม่น่าจะมาอยู่ด้วยกัน หากทางเวียงจันทน์คงจะยกทัพมาตีแน่ จึงได้อพยพ ประชาชนมาตั้งชุมชนที่ปากห้วยแจระแม แม่น้ำมูล พร้อมกับได้ส่งทูตไปที่โคราชและกรุงเทพขออยู่รวมใน โพธิสมภารแห่งอาณาจักรไทย
ต่อมาพระวรปัญญา ได้ยกทัพไปตีเมืองจำปาสักและเวียงจันทน์แตกชนะสงครามแล้วกวาดต้อนผู้คน ชาวญ้อภูไทย ชาวพวน ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยในเขตจังหวัดหนองคาย นครพนม สกลนครและกาฬสินธุ์ ส่วน พระวรปัญญา ได้นำเสนามาตย์กลับไปพัฒนาเมืองอุบลราชธานี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) มีกุศโลบาย ให้ประชาชนที่อพยพมาจากเมืองหนองบัวลำภู (กาบแก้ว บัวบาน) ที่มาพร้อมกับพระวรปัญญาเมื่อครั้งก่อนโน้นกลับไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครพนม ที่ปากน้ำ สงครามที่เป็นเมืองไชยบุรีเวลานี้
ต่อมาราษฎรที่จึงได้หารือกันถึงชัยภูมิทำเลที่เหมาะสมการตั้งถิ่นฐาน เชื้อสายของกลุ่มผู้อพยพกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วยผู้ที่มาจากสกุลพระนครสกุลหลวงกำจัดและสกุลท้าวขัตติยะ นานสกุล นคะจัด และติยะบุตร มา จากท่านทั้งสามตามลำดับ ได้จัดหาพาหนะมาขี่และม้าต่างบรรทุกสิ่งของเดินทางเสาะหาที่ตั้งชุมชนของตนในที่สุด ก็มาพบหมู่บ้านชาวข่า (ข้า) อยู่บริเวณโนนบ้านคือทุ่งนาโนนบ้านของชาวบ้านสางผงเวลานี้ เห็นที่นาและข้าวที่ ปลูกไว้งามมากกำลังพอดีเก็บเกี่ยว
กลุ่มผู้สำรวจภูมิประเทศ ได้สำรวจโดยรอบพบว่ามีลำห้วย ไหลลงสู่แม่น้ำสงครามระยะห่างจาก น้ำสงครามประมาณ 2 กิโลเมตร มีป่ายางใหญ่ มีป่าไม้นานาพันธุ์และมีสัตว์ป่ามากมาย จึงตั้งชุมชนตรงบริเวณ สันดิน รอบๆสันดินเป็นที่ลุ่มส่วนใหญ่ 2-3 ปีจะมีน้ำท่วมครั้งหนึ่งและจะท่วมอยู่นานประมาณ 1 เดือน
ระหว่างโนนสันดินบ้านสามผงกับโนนดินดงพระเนาว์จะมีหนองน้ำอยู่ 3 หนอง มีน้ำขังตลอดปี น่าจะเป็น ที่มาของชื่อ “บ้านสามผง” ซึ่งหมายความว่า บ้านสามหนองน้ำ คำว่า “ผง” น่าจะเพี้ยนมาจาก คำว่า “ผง โบราณเรียกบริเวณที่มีปลาอยู่ชุกชุมว่า “ฝูงปลา” รวมแล้วจะมีหนองน้ำอยู่รอบๆ หมู่บ้าน คือ หนองขา หนองบัว และหนองสามผง
การดำรงชีวิต
ราษฎรมีการทำนาเพื่อเลี้ยงชีพ จับปลาตามหนองน้ำใหญ่ทั้ง 3 หนอง และลำน้ำสงครามตรงบริเวณใกล้ บ้านสางผง ซึ่งมีปลาน้ำจืดนานาพันธุ์ชุกชุมมากมีการทอดแหใหญ่ยาวประมาณ 12 ศอก รวมกลุ่มกัน 7-8 ลำเรือ ไปตามลำน้ำสงครามเช้าไปเย็นกลับ จะได้ปลาเกือบเต็มลำเรือ โดยมากจะเป็นปลาขาวกลุ่ม (ปลากลุ่ม) ซึ่งอยู่ รวมกันเป็นกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ เป็นเหตุการณ์เมื่อ 60-70 ปีมาแล้ว จึงมีคำผญาว่า “สามผงดินดำน้ำชุ่ม ปลากลุ่ม บ้อน คือแข้ฟาดหาง” หมายความว่า บ้านสามผงนี้มีดินดี มีน้ำดี ปลากลุ่มผุดว่ายพร้อมกันเป็นจำนวนมากเสียงดัง เหมือนจระเข้ฟาดหาง
จึงทำให้ชาวสามผง มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีดังคำกลอนที่ว่า
“ชาวสามผงทุกคนรักสันโดษ ไม่ชั่วโฉดใฝ่สุขทุกวิถี หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาใจอารีย์
กอปรกรรมดีตามอย่างบรรพชน ทำไร่นาไหมปอและทอเสื่อ เลี้ยงโคเนื้อจับปลาคราหน้าฝน
สารพัดทำทุกอย่างเพื่อสร้างตน ยามสับสนก็ช่วยชาติ ไม่ขลาดกลัว”
รวบรวมโดย รศ.พิเศษ ดร.อาบ นคะจัด
เรียบเรียนโดย นายนิพนธ์ ติยะบุตร
|